ช่วงนี้ค่ายมือถือต่างออกโฆษณาว่าคลื่นความถี่ที่ตนเองใช้ทำ 3G ดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ บ้างก็ว่าคลื่นของฉันตัวจริง มาตรฐานโลก บ้างก็ว่าของคลื่นของฉันส่งได้ไกลกว่า บ้างก็ว่าระบบของฉันดีที่สุดเพราะมีสามคลื่น เป็นเรื่องปกติที่เมื่อมีการเปิดเครือข่ายใหม่และระบบยังใช้งานได้ไม่ทั่วถึง ผู้ให้บริการก็มักจะคุยโม้เรื่องสรรพคุณของเครือข่ายของตนเองเอาไว้ก่อน ก่อให้เกิดความสับสนเพราะมักจะให้ข้อมูลกับผู้บริโภคไม่ครบถ้วน เรามาดูข้อเท็จจริงกันดีกว่าครับว่า คลื่นความถี่ที่ใช้ทำ 3G มันแตกต่างกันอย่างไร
คลื่นความถี่ 3G ทุกคลื่นล้วนเป็นมาตรฐานที่กำหนดโดย ITU
ที่จริงแล้วเทคโนโลยี 3G สามารถทำงานบนคลื่นความถี่ใดก็ได้ แต่หากเราเลือกใช้ย่านความถี่ที่ชาวบ้านเขาไม่ใช้กันก็จะไม่มีเครื่องลูกข่ายรองรับ ดังนั้นการเลือกย่านความถี่ 3G ต้องเลือกให้ตรงกับมาตรฐานที่กำหนดโดยหน่วยงานของสหประชาชาติที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องนี้คือ ITU (International Telecommunication Union)
ITU ได้กำหนดคลื่นความถี่สำหรับให้บริการ 3G ไว้ 25 ย่านความถี่ แต่ที่นิยมกันคือคลื่นความถี่ย่าน 2100, 1900, 1700 (AWS), 850 และ 900 MHz ดังนั้นคลื่นความถี่เหล่านี้ล้วนเป็นมาตรฐานทั้งสิ้น ไม่มีผู้ให้บริการ 3G รายใดในโลกที่ใช้คลื่นความถี่ที่ไม่ตรงกับมาตรฐาน
คลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz ถูกกำหนดโดย ITU ให้เป็นย่านความถี่สากลของ 3G
มาตรฐานต่างๆในโลกมักแบ่งออกเป็น 3 ค่ายคือ ยุโรป อเมริกา และ ญี่ปุ่น ในยุค 2G แต่ละค่ายต่างก็ใช้เทคโนโลยีที่ต่างกัน และใช้คลื่นความถี่ที่ไม่ตรงกัน ยุโรปใช้ 2G ย่าน 900 และ 1800 MHz ในขณะที่ อเมริกาใช้ย่าน 800 และ 1900 MHz ส่วนญี่ปุ่นใช้ย่าน 1500 MHz ทำให้บริการข้ามแดนอัตโนมัติ (International Roaming) มีข้อจำกัดเพราะย่านความถี่ไม่ตรงกัน เทคโนโลยีไม่เหมือนกัน
เพื่อไม่ให้ระบบ 3G เกิดปัญหาซ้ำรอยเดิม ในการประชุมที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อปี ค.ศ. 1997 ITU จึงได้กำหนดให้คลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz เป็นย่านความถี่สากลสำหรับ 3G ที่พยายามจะให้โรมมิ่งได้ในทุกประเทศ
ในเวลาต่อมา กรมไปรษณีย์โทรเลขได้ทำการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2 GHz ซึ่งในขณะนั้นถูกใช้งานเป็นระบบสื่อสัญญาณไมโครเวฟ เพื่อเตรียมจัดสรรใหม่เป็น 3G 2100MHz สำหรับประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันได้ถูกจัดสรรให้กับผู้ให้บริการ 4 รายคือ TOT และบริษัทลูกของ AIS dtac Truemove
ระบบ 3G มีคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz เป็นความถี่สากล แต่ระบบ 4G LTE กลับประสบปัญหา band fragmentation คือแต่ละประเทศใช้คลื่นความถี่ที่แตกต่างกันมาทำ 4G LTE เพราะไม่มีความถี่ย่านใดถูกกำหนดให้เป็นความถี่สากลตั้งแต่ต้น การนำอุปกรณ์ 4G LTE ไปใช้ในต่างประเทศจึงต้องพึ่งพาการโรมมิ่งกับ 3G 2100MHz เป็นหลัก แต่มีแนวโน้มว่าย่านความถี่ 1800 MHz จะได้รับความนิยมและอาจกลายเป็นย่านความถี่สากลของ 4G ในอนาคต
จากการที่คลื่นความถี่ 2100 MHz เป็นคลื่นความถี่สากลของ 3G จึงทำให้ได้รับความนิยมทั่วโลกมากกว่าคลื่นความถี่อื่นๆ ข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2556 พบว่า
มีผู้ให้บริการ 3G 2100 MHz อยู่ 393 โอเปอเรเตอร์ใน 155 ประเทศ รวมผู้ใช้บริการ 1,018 ล้านคน
มีผู้ให้บริการ 3G 900 MHz อยู่ 64 โอเปอเรเตอร์ ใน 43 ประเทศ รวมผู้ใช้บริการ 273 ล้านคน
มีผู้ให้บริการ 3G 850 MHz อยู่ 53 โอเปอเรเตอร์ ใน 35 ประเทศ รวมผู้ใช้บริการ 184 ล้านคน
ข้อมูลจากเว็บ www.gsmarena.com ระบุว่าโทรศัพท์มือถือที่รองรับ 3G 2100 MHz มี 1,355 รุ่น, 3G 900MHz มี 750 รุ่น และ 3G 850MHz มี 749 รุ่น การที่ 3G 2100 MHz ได้รับความนิยมสูงสุดทำให้โทรศัพท์มือถือ 3G ทุกรุ่น มักจะต้องผลิตออกมาให้รองรับคลื่นความถี่ 2100MHz
ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือมีแนวโน้มที่จะใช้คลื่นความถี่หลายย่านมาให้บริการร่วมกัน
ในปัจจุบันผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือมีแนวโน้มจะต้องใช้คลื่นความถี่ 3G หลายย่านความถี่มาให้บริการร่วมกัน ด้วยเหตุผล 2 อย่างคือ 1) คลื่นความถี่ย่านเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการใช้งานในอนาคต และ 2) คลื่นความถี่แต่ละย่านเหมาะกับการใช้งานในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน
คลื่นความถี่ย่านที่สูงกว่า 1GHz (1.8GHz, 2.1GHz, 2.3GHz, 2.6GHz) เรียกว่าย่าน high band คลื่นความถี่ย่านนี้มีข้อดีคือมีปริมาณคลื่นให้จัดสรรได้มาก สามารถจัดสรรเพิ่มเติมได้อีกในอนาคต แต่มีข้อเสียคือส่งสัญญาณได้ไม่ไกล ต้องตั้งสถานีฐานจำนวนมากจึงจะครอบคลุมพื้นที่ได้ทั่วถึง
คลื่นความถี่ย่านที่ต่ำกว่า 1GHz (700MHz, 850MHz, 900MHz) เรียกว่าย่าน low band คลื่นความถี่ย่านนี้มีข้อดีคือส่งสัญญาณได้ไกล ครอบคลุมพื้นที่ได้กว้าง แต่คลื่นความถี่ย่านนี้มีปริมาณความถี่ให้จัดสรรได้น้อย ไม่เพียงพอต่อการรองรับปริมาณการเติบโตของดาต้าในระยะยาว
ที่จริงแล้ว ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเอกชนทั้ง 3 ค่าย ต่างก็ใช้คลื่นความถี่หลายย่านมาให้บริการร่วมกัน โดย AIS ใช้คลื่น 900 MHz + 2100 MHz ส่วน dtac และ TruemoveH ใช้คลื่น 850 MHz + 2100 MHz และในอนาคตทั้งสามค่ายอาจจะต้องประมูลเอาความถีี่ย่านอื่นๆเข้ามาเพิ่มอีก
เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้ แต่ละท่านน่าจะพอเข้าใจถึงข้อดี ข้อเสียของคลื่นความถี่ต่างๆ แล้ว กล่าวคือ
คลื่นความถี่ 2100 MHz มีข้อดีคือเป็นที่นิยมแพร่หลาย สามารถโรมมิ่งได้ (เกือบจะ) ทุกประเทศในโลก และมีเครื่องลูกข่ายรองรับจำนวนมาก
คลื่นความถี่ 850 MHz และ 900 MHz มีข้อดีคือสามารถครอบคลุมพื้นที่ได้ไกล
เครือข่าย 3G จะมีคุณภาพดีหรือไม่นั้นอยู่ที่ผู้ให้บริการเอาคลื่นความถี่ที่มีอยู่มาใช้อย่างเหมาะสมและเต็มประสิทธิภาพหรือไม่ และที่สำคัญคือต้องมีการการลงทุนขยายเครือข่าย และปรับปรุงเครือข่ายอย่างต่อเนื่องครับ
ขอบคุณบทความจาก Saran2530's Blog
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น